วิทยา เลาหกุล: หนทางสู่ 'Thai Boom' คนต่อไป
ไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักนักฟุตบอลที่ชื่อ วิทยา เลาหกุล จากประสบการณ์ทั้งในญี่ปุ่นกับ ยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซาก้าในปัจจุบัน) ต่อด้วย แฮร์ธา เบอร์ลิน จนได้รับฉายา
‘ไทยบูม’ ด้วยฟอร์มการเล่นอันฉกาจฉกรรจ์ วิทยาทำให้ชาวยุโรปได้รู้จักกับประเทศเล็ก ๆ ในโลกตะวันออกว่ามีดีในเชิงลูกหนังเช่นกัน ตำนานมิดฟิลด์ช้างศึก คือหนึ่งในดาวค้างฟ้าของจักรวาลลูกหนังแดนสยาม ไม่เพียงความสำเร็จในต่างประเทศ เขายังกลับมาพัฒนาฟุตบอลไทย และปัจจุบันยังคงอยู่ในภารกิจสร้างอาณาจักรชลบุรี กว่า 42 ปีที่อุทิศตัวเองให้กับลูกกลมๆที่มีลมอยู่ข้างใน และการถ่ายทอดวิชา ประสบการณ์ต่างๆ แก่เด็กมากมาย วันนี้ ‘โค้ชเฮง’ คุยกับเราถึงโอกาสที่จะมี ‘ไทยบูม’
คนต่อไป และอะไรที่เขาต้องผ่าน สมัยก่อนถ้าเด็กสักคนอยากเล่นฟุตบอล มันยากง่ายกว่าสมัยนี้อย่างไร?
ผมว่าเด็กสมัยนี้โชคดีกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนก็ซ้อมกันไปผิด ๆ ถูก ๆ เดี๋ยวนี้มีโค้ชที่จบซีไลเซนส์ ไปยันเอ ไลเซนส์ โค้ชต่างชาติก็เข้ามาทำงานในไทยเยอะ สมัยก่อนโค้ชตามสโมสรก็ครูพละเลย ถึงตอนนี้ก็เป็นอะคาเดมี มืออาชีพกว่าเดิม เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ซึมซับแทคติกการเล่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เมนูการฝึกแบบพิเศษ โปรแกรมการแข่งขันก็เยอะขึ้น เป็นมืออาชีพขึ้น แล้วที่ได้ตามมาเป็นแพคเกจก็คือนักเตะมีคุณภาพมากขึ้น
แต่ก่อนเราเล่นแบบต่างคนต่างเล่น เด็กสมัยนี้จะเล่นด้วยความเข้าใจในแบบแผนที่ฝึกกันมา มีระบบ มีรูปแบบถูกต้องกว่าการเล่นจับผิดจับถูกอย่างสมัยก่อน ตอนนี้โครงสร้างในแต่ละสโมสรเริ่มชัดเจน แม้ว่าจะไม่มีอะไรจากสมาคม แต่โค้ชทุกคนก็พัฒนาขึ้นมา สมัยก่อนเราอาจจะเล่นด้วยความรัก
แบบไม่มีเป้าหมาย แต่สมัยนี้ทุกคนจะถูกสอนให้วางเป้าหมาย มันสำคัญมากและต้องไปให้ถึง
อาจจะเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น แต่เราก็เห็นว่ามีผู้เล่นดาวรุ่งหายหน้าหายตาไปก่อนจะได้เป็นผู้เล่นอาชีพมากมาย
เป็นเรื่องปกติที่นักฟุตบอลดาวรุ่งพอเติบโตขึ้นมาจะเริ่มหายไป ไปทำอาชีพอื่นบ้างอะไรบ้าง มันเป็นปัญหาทั่วโลก ไม่มีหรอกที่ได้เด็กมา 100 คนแล้วจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพทุกคน เราต้องวิเคราะห์ว่าหายไปไหน โดยเฉพาะตอนอายุ 18 ซึ่งบางทีมีแค่หนึ่งคนจาก 19 คนเท่านั้นที่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ใช่แค่เรื่องทักษะอย่างเดียว
มันมีเรื่องอื่นเข้ามาด้วย อันดับแรกต้องมีเป้าหมายให้ชัด ถึงจะสามารถอยู่ในเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ตลอด และที่สำคัญก็อยู่ที่การอบรมสั่งสอนให้เขาเข้าใจ ให้เขามีความมั่นใจ พอมั่นใจมันก็จะสนุก พอสนุกก็สามารถเอาชนะใครก็ได้ ยิ่งสนุกยิ่งชนะก็มีผลตอบแทนออกมา เด็กก็จะมีแรงจูงใจไปสู่เป้าหมาย
"อีกอย่างคือระเบียบวินัย เป็นสิ่งสำคัญเลย ถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ ก็จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้"
วัยที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มจริงจังกับฟุตบอลอยู่ที่สักกี่ขวบ?
เริ่มตั้งแต่ห้าขวบเลยก็ดี เจ็ดขวบก็ใช้ได้ ช่วงวัยนี้กำลังดี เขาสามารถเป็นนักเตะระดับนานาชาติได้ ถ้าฝึกอย่างถูกวิธี พ่อแม่ต้องให้การสนับสนุน ให้ได้เรียนรู้จากสโมสรที่มีความเป็นมืออาชีพ
อย่างที่เห็นกันว่าทุกสโมสรในยุโรปเขามีโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว วัยอนุบาลแบบนี้เลย?
เด็กที่เพิ่งเริ่มเล่นฟุตบอลตอนอายุ 13 ก็ถือว่าช้าไปแล้วสำหรับผม แม้ตั้งแต่อายุ 5-7 ขวบจะเพิ่งเรียนอนุบาลก็จริง แต่เขารู้จักและซึมซับฟุตบอลไปแล้ว สมัยนี้มีสื่อออกมามากมาย เด็กๆก็ได้ดู ก็มีไอดอล เขาได้เปรียบกว่าสมัยก่อน
การได้เริ่มต้นในต่างประเทศอาจจะได้เปรียบกว่า ระบบต่างประเทศกับไทย เมื่อก่อนอาจจะแตกต่างกันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เรามีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โค้ชแต่ละทีมก็เริ่มหันมาใช้บริการโค้ชต่างประเทศด้วย เด็กก็ได้เรียนรู้จากผู้เล่นต่างชาติที่อยู่ในทีมรวมถึงโค้ชต่างชาติ คุณดูสิ เด็กๆ สมัยนี้ได้เปรียบมากจริง ๆ
"แล้วเด็กต่างประเทศกับเด็กไทย ผมคิดว่ามันไม่มีเรื่องที่ได้เปรียบเสียเปรียบ มันอยู่ที่แนวทางการเล่น ถ้าเรารู้ว่าเราตัวเล็กกว่าเด็กต่างประเทศ เราก็เสริมความเร็ว สร้างสไตล์ที่เป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้เรายังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนตายตัว"
แล้วโค้ชเฮงเริ่มต้นเส้นทางฟุตบอลตอนอายุเท่าไร?
ตอนผมเป็นเด็ก ผมตั้งเป้าเป็นนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่ 7-8 ขวบเลย ส่วนหนึ่งเพราะสภาพแวดล้อมด้วย ที่บ้านก็เล่นฟุตบอลกันหมด ผมมีเป้าหมายที่ชัดเจน ได้แชมป์ตั้งแต่รุ่นเด็กจนโต แล้วก็ได้ติดทีมชาติชุด 18 ปี จนไปชุดบี และชุดเอ
ส่วนเป้าหมายของผมก็คือการไปเล่นเมืองนอก ตลอดเส้นทางมันอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าเป้าหมายเราชัดเจน และรู้สึกว่าเรายังไม่เป้าหมาย เราก็ต้องสู้ต่อไป เพราะฉะนั้นผมถึงเป็นคนเดียวที่อยู่ต่างประเทศนานที่สุด ไม่หนีกลับเหมือนคนอื่น 15-17 เป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดที่ควรจะไป นั่นหมายความว่าถ้าอายุเกิน 20 ปีแล้ว การไปต่างประเทศก็ถือว่าช้าไป ผมขอยกตัวอย่างธีรศิลป์(แดงดา) ในสายตาผม ผมคิดว่าเขาไปค้าแข้งในต่างประเทศช้าเกินไป เพราะต้องไปปรับตัวมาก
นอกจากเกมการเล่นแล้ว ยังมีความเร็วของฟุตบอล, วัฒนธรรม, ภาษา, อาหาร, อากาศ มันมีเยอะมาก ถ้าเราไปช้า มันก็จะทำให้เราปรับตัวได้ยาก แต่ผมคิดว่าบางทีมันอาจจะไม่สำคัญว่าจะไปตอนไหนก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ตัวนักเตะ ว่าเขาจะปรับตัวได้รวดเร็วแค่ไหน ฟุตบอลมันไม่ได้ง่าย การปรับตัวนอกจากในสนามแล้ว โค้ช, แท็คติค, ความเร็วแล้ว เรื่องนอกสนามเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เพราะไทยเป็นเมืองร้อนและเราต้องไปเล่นเมืองหนาว มันอาจจะเล่นไม่ได้เลย ยิ่งไม่มีสมาธิและจิตใจไม่มั่นคง ก็จะทำให้ฟอร์มการเล่นนั้นเค้นออกมาได้แค่สิบจากร้อย เรื่องภาษาเราก็ต้องพยายามเรียน ก็ต้องหาเวลาว่างจ้างโค้ชมาสอนที่บ้านเลย คือลงทุนไปเลย มันไม่เสียเปล่าหรอกถ้าเราได้ภาษา เพราะว่าเราจะได้เปรียบคนที่ไม่ได้ภาษา เป็นไปได้ไหมที่จะมี
‘ไทยบูม’ คนที่สอง ผมมั่นใจนะ ว่าในอนาคตจะมีนักเตะไทยไปประสบความสำเร็จในต่างประเทศเหมือนที่ผมเคยทำได้ที่เยอรมันและญี่ปุ่น เขาถึงบอกว่าเอาคนที่เป็นแชมป์มาสอนก็จะเป็นแชมป์ เอาคนที่อยู่เมืองนอกมาแล้วมาสอนก็เด็กจะอยากไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นผมมั่นใจว่าในอนาคตต้องมีแน่นอน มันไม่จำกัดหรอกว่าจะเป็นประเทศไหน เพราะประเทศเนเธอร์แลนด์เอง เบลเยียมเอง ก็เป็นเวทีที่น่าสนใจเหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น